2000 QW7 เป็นดาวเคราะห์น้อยดวงล่าสุดที่กำลังจะโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 15 กันยายน 2562 เวลา 06:54 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยดาวเคราะห์น้อยจะอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 5 ล้านกิโลเมตร หรือ ประมาณ 14 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ เช่นเดียวกับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นที่เข้ามาใกล้และผ่านไปโดยไม่เกิดการชนใด ๆ สิ่งที่ทำให้ 2000 QW7 ได้รับความสนใจคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 650 เมตร ใกล้เคียงกับความสูงของตึก บุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ (Burj Khalifa) อาคารที่สูงที่สุดในโลกในประเทศดูไบ
ในทางเทคนิค 2000 QW7 อยู่ในรายชื่อของวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก (Potentially Hazardous Object) เพราะระยะห่างตอนที่เข้าใกล้ที่สุดน้อยกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (2000 QW7 ห่างแค่ 0.036 หน่วยดาราศาสตร์) จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยมีเครือข่ายของหอดูดาวทั่วโลกคอยเฝ้าสังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูล เพราะข้อมูลละเอียดมากขึ้น ยิ่งทำให้การคำนวนเส้นทางการโคจรแม่นยำขึ้น
นับตั้งแต่ระบบติดตามวัตถุใกล้โลกของนาซา NEAT (Near-Earth Asteroid Tracking) ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2543 มีการเก็บข้อมูลดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 943 ครั้ง ซึ่งแม่นยำพอที่จะยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไม่ชนโลกอย่างแน่นอน
วงโคจรของ 2000 QW7 ไม่ได้ตัดกับวงโคจรของโลก แค่ทาบกับวงโคจรของโลก เรียกลักษณะการโคจรแบบนี้ว่า เอเมอร์ (Amor) ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ 2.72 ปี นักวิทยาศาสตร์คำนวนว่าช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกจะมีความเร็ว 23,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลใด ๆ เพราะทิศทางของดาวเคราะห์น้อยไม่ได้มุ่งมาที่โลก ยังคงเดินทางไปตามเส้นทางโคจรปกติ
แม้เรามักได้ยินคำว่า “เฉียด” กับการเข้ามาใกล้ของดาวเคราะห์น้อย แต่เมื่อใช้เทียบกับการบอกระยะห่างของวัตถุในระบบสุริยะ อาจจะไม่ตรงความหมายเท่าใดนัก เพราะยังถือว่าห่างไกลจากระยะที่มนุษย์คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน อีกทั้งดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ยังเคยเข้ามาใกล้โลกแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งแรก และไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น